ใครบ้างที่ควรล้างจมูก
การล้างจมูก คือ การสวนล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อชำระล้างน้ำมูก และสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ช่วยลดอาการน้ำมูกไหลลงคอ และอาการคัดจมูกช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นอีกด้วย การล้างจมูกไม่ได้จำเป็นสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้เท่านั้น แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้ใหญ่ และเด็ก (ที่สามารถกลั้นหายใจ และสั่งน้ำมูกเองได้) ก็สามารถล้างจมูกได้เช่นกัน
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
- ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ
- ผู้ที่เป็นหอบหืด พ่นยาเป็นประจำ
- ผู้ที่ต้องเผชิญมลภาวะ สูดดมฝุ่น ควันบ่อยๆ
- ผู้ที่เป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะมากๆ จนรบกวนการหายใจ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูก
- น้ำเกลือปราศจากเชื้อ Sodium Chloride 0.9%
- ไซริงค์ (Syringe) ขนาด 5-10 cc (สำหรับเด็ก) ขนาด 10-20 cc (สำหรับผู้ใหญ่)
- ภาชนะที่สะอาด สำหรับใส่น้ำเกลือในการล้างจมูก
- อื่นๆ เช่น ภาชนะรองน้ำ กระดาษทิชชู แก้วสะอาด
ขั้นตอนการล้างจมูก
- ล้างมือและไซริงค์ให้สะอาด
- เทน้ำเกลือใส่ในภาชนะที่สะอาด
- ใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือจากภาชนะที่สะอาดประมาณ 10-20 มิลลิลิตร ตามขนาดของไซริงค์ และโน้มตัวเหนือภาชนะรองน้ำ
- ดันไซริงค์ให้แนบสนิทกับรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง แล้ว “กลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก” หรือร้อง อา—
- ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูก น้ำเกลือจะไหลเข้าไปในโพรงจมูก และไหลออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง
- สั่งน้ำมูกที่ค้างอยู่ออกเบาๆ บางคนอาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกทางปากให้บ้วนทิ้งไป
- ล้างจมูกอีกข้างหนึ่ง ด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน
- ทำซ้ำโดยล้างจมูกสลับกันไปมา หรือล้างจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูก
ข้อควรระวังเมื่อล้างจมูก
- ควรใช้น้ำเกลือ Sodium Chloride 0.9% ชนิดปราศจากเชื้อ เท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนและไม่ระคายเคืองโพรงจมูก
- ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างจมูก เพราะจะทำให้เกิดอาการสำลักน้ำ และแสบโพรงจมูก
- ไม่ควรฉีดน้ำเกลือแรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองโพรงจมูก หรือโพรงจมูกอักเสบได้
- ควรสั่งน้ำมูกและเช็ดจมูกเบาๆ เพราะการสั่งน้ำมูกแรงๆ อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือหูอักเสบได้ และขณะที่สั่งน้ำมูกไม่ควรอุดรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรสั่งพร้อมกันทั้งสองข้าง
- หากต้องการใช้ยาพ่นหลังจากล้างจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อนอย่างน้อย 3-5 นาที จึงพ่นยา
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในจมูกออกไป ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ สามารถทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และสามารถล้างได้บ่อยๆ เมื่อมีอาการคัดจมูก หรือวันละ 2 – 3 ครั้ง โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
ที่มา : โรงพยาบาลศิครินทร์