ความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือดสูง นับว่าเป็นโรคที่น่ากลัวต่อร่างกายและพบได้บ่อย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีสัญญาณของอาการบ่งบอกอย่างชัดเจน โรคความดันโลหิตสูง
ความดันเลือด คืออะไร ?
- ความดันเลือด คือ ค่าแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังเส้นเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสามารถวัดได้ 2 ค่า ดังนี้
- ค่าความดันตัวบน คือ แรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวเต็มที่
- ค่าความดันตัวล่าง คือ แรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัวเต็มที่
ปัจจัยเสี่ยงความดันเลือดสูง
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
- อารมณ์ หากผู้ป่วยมีความเครียดจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงผิดปกติ
- ครอบครัวมีประวัติ เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานเกลือมากเกินไป
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการ ความดันเลือด สูง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ จะทราบว่ามีความดันเลือดสูงต่อเมื่อได้ทำการวัดความดันเลือดเท่านั้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เหนื่อยง่ายได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงและปล่อยไว้เป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตา และหลอดเลือด ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานไม่เป็นปกติ นำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ เช่น โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต
ระดับค่าความดันเลือด
- ความดันเลือดในเกณฑ์ที่ดี ค่าความดันเลือดตัวบนควรอยู่ที่ตัวเลขต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันเลือดตัวล่าง ต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันเลือดเกณฑ์ปกติ ความดันเลือดตัวบนอยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท ส่วนค่าความดันเลือดตัวล่างจะอยู่ที่ 80-84 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันเลือดเกณฑ์ค่อนข้างสูง ค่าความดันเลือดจะอยู่ที่ 130-139 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างจะอยู่ที่ 85-89 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันเลือดสูง ระดับที่ 1 ความดันเลือดตัวบน 140-159 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 90-99 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันเลือดสูง ระดับที่ 2 ค่าความดันเลือดตัวบนจะอยู่ที่ 160-179 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 100-109
- ความดันเลือดสูง ระดับที่ 3 ค่าความดันเลือดตัวบนจะเป็นตัวเลขตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ส่วนความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
อันตรายของโรค ความดันโลหิตสูง
- โรค ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ไต ตา และหลอดเลือดในร่างกาย เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคต่าง ๆ เช่น โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ซึ่งนำมาสู่ภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้ มาศึกษาอันตรายของโรคความดันโลหิตสูงให้มากขึ้นได้ที่ – โรคความดันโลหิตสูง ตัวการร้ายอันตรายกว่าที่คิด
โรค ความดันโลหิตสูง ควรทำอย่างไร
- ปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรค เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมอาหารที่มีรสเค็มจัด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงความเครียด ก็จะสามารถควบคุมความดันเลือดได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมความดันเลือด มาดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารที่ช่วยควบคุมความดันเลือดที่ – ความดันโลหิตสูง ลดด้วย 10 เมนูอาหารสุขภาพ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะพิจารณาให้ยารักษาความดันเลือด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ข้อมูลจาก
อ. พญ.ณัฏฐากร พงศ์เศรษฐ์กุล
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV
Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel
Line: https://page.line.me/ramathibodi
Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv